Sunday, October 6, 2024
Latest:
การศึกษา

ม.รังสิต มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจาการดำเนินงานขององค์กรเป็นตัวบ่งชี้ว่าองค์กรให้ความสำคัญต่อปัญหาสภาวะโลกร้อนมากน้อยแค่ไหนตามเทรนด์  ESG (Environment, Social, Governance) ที่เกิดจากความตื่นตัวจากปัญหาสภาวะโลกร้อน  นอกจากนี้ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผลักดันให้สถาบันการศึกษาขับเคลื่อนแนวทาง BCG Economy Model ทำให้สถาบันการศึกษาต้องปรับตัว โดยการขับเคลื่อนนโยบายที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านการรักษ์โลกและความยั่งยืนมากขึ้น มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะสถาบันการศึกษาต้องมีบทบาทชี้นำสังคม โดยวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดี ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ ได้ให้ความสำคัญด้านปัญหาสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงมีนโยบายสำคัญที่ฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อมได้นำมาขับเคลื่อน คือ การใช้พลังงานสะอาดจาก Solar Cell มาใช้ทดแทนพลังงานที่มาจาก Fossils   

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการ RSU Solar Rooftop ซึ่งเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์ มีทั้งหมด 3 เฟส เป็นการดำเนินการในรูปแบบ PPA (Power Purchase Agreement) โดยการเปิดประมูลให้ผู้ประกอบการมาลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วขายไฟฟ้าให้มหาวิทยาลัยในราคาที่ตกลงกันตามระยะเวลาของโครงการ และเมื่อครบกำหนดแล้วระบบทั้งหมดจะส่งมอบให้มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปรวมระยะเวลาใช้งานประมาณ 25-30 ปี โดยทั้ง 3 เฟสมีรายละเอียด ดังนี้

เฟส 1 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1 MW โดยติดตั้งบนหลังคาอาคาร ดิจิทัลมัลติมีเดีย คอมเพล็กซ์ (อาคาร 15) และหลังคาลานจอดรถด้านหลังอาคาร 15 เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2563 ช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 1.4 ล้านบาท/ปี 

เฟส 2 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1 MW ติดตั้งบนหลังคาอาคารนันทนาการ (อาคาร 14) เปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2565  ช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 1.8 ล้านบาท/ปี ตลอดระยะเวลา 15 ปี จากนั้นระบบผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 2 เฟส จะถูกส่งมอบให้เป็นของมหาวิทยาลัย โดยสามารถใช้งานต่ออย่างมีประสิทธิภาพจนครบ 25 ปี  

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้ง เฟส 3 ที่มีกำลังการผลิต 2.0 MW  โดยจะติดตั้งบนหลังคา อาคาร 3  อาคาร 4  อาคาร 5 อาคาร7 อาคาร6   อาคาร 9A  อาคาร12 และอาคาร 13 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 โครงการในเฟสนี้ระยะเวลาทั้งหมด 12 ปี จากนั้นระบบผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดจะส่งมอบให้เป็นของมหาวิทยาลัย โดยสามารถใช้งานต่ออย่างมีประสิทธิภาพจนครบ 30 ปี เมื่อดำเนินการครบทั้ง 3 เฟส มหาวิทยาลัยรังสิตจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ถึงร้อยละ 21 และจะช่วยให้มหาวิทยาลัยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 6-7 ล้านบาท ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรังสิต จ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือนประมาณ 10 ล้านบาท รวมเป็น 120 ล้านบาท/ปี ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์แทนการใช้พลังงาน Fossils จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเฉลี่ย 2,100 ตันต่อปี เทียบได้กับการปลูกต้นไม้เพิ่ม 150,000 ต้น

นอกจากนี้ ฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม กำลังปรับปรุงอาคารที่ตั้งของฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม (อาคาร 13)  ให้เป็นอาคารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Energy Building)  กล่าวคือ จะเป็นอาคารต้นแบบที่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นอาคารแห่งแรกของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่มีสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยจะมีการติดตั้งระบบเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ 119 kW พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานขนาด 25 kWhr ไว้ใช้ในเวลากลางคืนหรือช่วงที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ อาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสุทธิเป็นศูนย์ จะขยายผลเพื่อใช้ในอาคารอื่นๆ  ได้ต่อไป โดยการเพิ่มระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าต้นทุนจะลดลงตามปริมาณความต้องการและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น นอกจากนี้ เมื่อผนวกกับโครงการอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการ  เช่น โครงการควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศตามการใช้งานแบบ Real time ตามการใช้งานจริงด้วยระบบ  IoT  โครงการระบบทำน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ (District Cooling) โครงการติดตั้งอุปกรณ์ลดการใช้พลังงานที่ตู้ MDB ของอาคาร และโครงการ Smart Meter เพื่อติดตามควบคุมการใช้ไฟฟ้าในอาคาร จะช่วยลดการใช้พลังงานและส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นตามลำดับ

แผนการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคตจะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำและการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พัฒนาขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่า Carbon Credit ไปขายใน Carbon Market ภาคสมัครใจในประเทศได้ และมีเรื่อง Carbon Tax ในอนาคต ดังนั้นในขั้นต้นต้องมีการประเมินว่าในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมี Carbon Footprint มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นค่าที่บ่งบอกถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

การที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นไปเป็น Green University ที่การใช้พลังงานสะอาดไม่เพียงเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นที่มาของภาวะโลกร้อน แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจในเรื่อง Carbon Footprint Carbon Credit และ Carbon Tax  เป็นการให้ความสำคัญและความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนตามเทรนด์  ESG และแนวนโยบาย BCG Economy Model และตามข้อตกลงของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) ครั้งที่ 26  ที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050  บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ในปี ค.ศ.2065  

จากนี้ไป มหาวิทยาลัยรังสิตจะมุ่งมั่นในเส้นทางรักษ์โลกเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะมีนวัตกรรมที่มีต้นทุนที่เป็นไปได้ในการลงทุน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยให้สามารถไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นและมีความคุ้มค่าในการลงทุนได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *