สวพส. ขับเคลื่อนภูมิปัญญาหัตถกรรม ผลักดัน Soft Powerเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรม
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ดำเนินงานส่งเสริมหัตถกรรมชนเผ่าบนพื้นที่สูงภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและความสวยงาม สืบสานส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกิดอาชีพ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่คนในชุมชน โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมให้มีมูลค่าเพิ่ม ขับเคลื่อน Soft Power เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรม จนนำไปสู่การสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในหลายกลุ่ม
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า คนบนพื้นที่สูงมีรายได้หลักจากภาคการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินและความยากจน ผลจากการดำเนินงานส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนางานหัตถกรรม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่า โดยในระยะที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรใน 23 ชุมชน จำนวน 19,439,477 บาท สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงได้อย่างเพียงพอ ช่วยแก้ปัญหาความยากจน เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์ สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) ของรัฐบาล โดยผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาชนเผ่า ถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ในการสร้างสรรค์งานและการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เยาวชนรุ่นใหม่นำเข้ามาเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าให้แก่คนทั่วไปผ่านทางการสื่อสารแบบออนไลน์ต่าง ๆ
ผลจากการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจน ในการขยายองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของ สวพส. ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูงให้อยู่ดีมีสุข เกิดชุมชนต้นแบบสร้างมูลค่าเพิ่มภูมิปัญญาชนเผ่า “Soft Power” จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้รับพระราชทานลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ“ จากพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบในการปักลายบนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ให้สร้างสรรค์งานหัตถกรรม สืบสาน อนุรักษ์อัตลักษณ์และวัฒนธรรมชนเผ่า ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ปรับเปลี่ยนแนวความคิดที่จะย้ายกลับถิ่นฐาน
จึงเป็นก้าวสำคัญที่ตอบโจทย์ว่า เมื่อคนรุ่นใหม่กลับบ้านแล้วจะทำอะไร เพราะคนเหล่านี้เรียกว่าเป็นคนสองวัฒนธรรมคือ รู้จักข้างนอกและข้างใน และเป็นคนขับเคลื่อนหลักในชุมชน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุในชุมชนจะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่มีความรู้ ความชำนาญจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ก่อให้เกิดความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
ชุมชนบ้านปางแดงในเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำงานหัตถกรรมที่เป็นอาชีพนอกภาคการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และสร้างสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ สวพส. ยังมีการดำเนินงานขยายผลไปยังพี้นที่อื่นๆ เช่น กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงทีคีอมก๋อย “TeeKee Omkoi” ของกลุ่มหัตถกรรมบ้านห้วยปูหลวง ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่แฮหลวง ในการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นอัตลักษณ์ตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้นๆ และกลุ่มแม่บ้าน/ผู้สูงอายุบ้านแม่สายนาเลา ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด ร่วมกับโครงการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปเฮมพ์ โดยนำเส้นด้ายเฮมพ์ผสมกับฝ้ายที่ปั่นแบบอุตสาหกรรมและนำมาให้กลุ่มทดลองทอเป็นผืนผ้าด้วยกี่เอว และได้ต่อยอดจากการย้อมสีธรรมชาติ ไปยังการอนุรักษ์ป่าที่มีไม้ที่ใช้ในการย้อม รวมถึงการพัฒนากระบวนการย้อมสีธรรมชาติที่ช่วยลดการเกิดมลพิษ ตลอดจนประสานงานด้านการตลาด เพื่อหาช่องทางตลาดสินค้าหัตถกรรมและส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานหัตถกรรมชนเผ่าซึ่งทำจากวัสดุทางธรรมชาติ ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ระบบนิเวศน์ของชุมชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนเกิดความหวงแหนและตระหนักถึงความสำคัญของป่าที่เป็นวัตถุดิบสำคัญช่วยต่อยอดสู่ภูมิปัญญาดั้งเดิมและสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป