ในประเทศ

นักวิชาการซัด กม.คุมเหล้าเดิมยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่ ด้านสภาเด็กฯ วอนจัดสภาพแวดล้อมเอื้อความปลอดภัยให้เด็ก

นักวิชาการ ซัด กม.คุมเหล้าเดิมยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการขายให้เด็กและคนเมาขาดสติ  ด้านสภาเด็กฯ วอนจัดสภาพแวดล้อมเอื้อความปลอดภัยให้เด็ก ก่อนตกเป็นทาสน้ำเมา  เผยผลสำรวจยังน่าห่วง เยาวชนก๊งเหล้าหนัก กว่า 1 ใน 4 ขณะที่เยาวชนก้าวพลาด สะท้อนปมชีวิตใช้นำเมา-ความรุนแรงสร้างการยอมรับ สุดท้ายเข้าคุกเสียโอกาส หวังใช้ประสบการณ์เปิดหูเปิดตาคนรุ่นใหม่อย่าประมาทฤทธิ์สุรา

  เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เครือข่ายเสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “มองรอบด้าน ปัญหาการปกป้องเด็กและเยาวชนไทย จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อสะท้อนปัญหา ผลกระทบ และปลุกพลังสังคมให้เห็นถึงความสำคัญ มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายธีรภัทร์  คหะวงศ์ ผู้ประสานงาน ขสย. กล่าวว่า มีข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เมื่อปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 28.40 ลดลงจากปี 2557 ที่มีผู้ดื่ม 32.29 % เป็นผลจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แต่กลุ่มที่ยังน่าเป็นห่วงคือเด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี ที่ยังพบว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากถึง 2,282,523 คน คิดเป็นร้อยละ 23.91 หรือ 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ดังนั้นขอให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อกรณีการขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ยิ่งหากมีการแก้ไข พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551  ก็ต้องแก้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ควบคุมการโฆษณาแฝง ควบคุมกิจกรรมการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจสุรา ไม่ควรแก้กฎหมายเปิดช่องให้โฆษณาได้เสรี  ให้ขายในสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงไม่ควรยกเลิกเวลาห้ามขาย เพราะถ้าขายได้ตลอด 24 ชม.ปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้น  หากการแก้ไขกฎหมายเป็นไปตามร่างของกลุ่มธุรกิจสุรารายย่อยที่เสนอ  จะเป็นการทำลายเจตนารมณ์เดิมของกฎหมายเดิมอย่างรุนแรง  และคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือนายทุนน้ำเมารายใหญ่ 

นายโยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คุ้มครองเด็กต้องเริ่มจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นมาตรฐานการเลี้ยงดู ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยเด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตราย ห่างจากอบายมุข ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาให้เด็กซื้อเหล้า บุหรี่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จนเกิดความคุ้นชินและกลายเป็นนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ ดังนั้นต้องส่งเสริม ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ข้อกฎหมายนี้มากขึ้น  ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี  สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ลูกหลานได้เติบโตอย่างปลอดภัย   สำหรับปีใหม่นี้ต้องอิงการระบาดของโรคโควิด -19 เพราะในการระบาดที่ผ่านมาจุดเริ่มต้นมาจากวงเหล้าในสถานบันเทิง ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการควบคุมโรค สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตจำนวนมาก วันนี้เราเริ่มเปิดประเทศแล้ว ดังนั้นในช่วงปีใหม่ ก็ขอให้เฉลิมฉลองอย่างรับผิดชอบ ลดการรวมตัว ฉลองบ้านใครบ้านมัน เพื่อจำกัดวงให้เล็กที่สุด นอกจากนี้ในการจัดกิจกรรม ต่างๆ ขอให้ผู้จัดจำกัดวงเล็กๆ คนที่พักร่วมกันก็ให้ทำกิจกรรมในกลุ่มเดียวกันตลอด และถ้าหลีกเลี่ยงการตั้งวง รวมกลุ่มได้จะดีที่สุด  และช่วงปีใหม่นี้สภาเด็กฯจะร่วมกับภาคีเครือข่ายและสสส. ทำการรณรงค์ทั่วประเทศ  วอนให้บรรดาผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ร่วมกันรับผิดชอบสังคมด้วยการทำตามกฎหมาย  งดขายเหล้าเบียร์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมาครองสติไม่ได้

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์  แซ่โง้ว  ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ตัวอักษรในกฎหมายของไทยค่อนข้างครอบคลุมตามประเด็นที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ทั้งเรื่องการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำกัดเวลาซื้อ ขาย การจำกัดอายุ เป็นต้น แต่ปัญหาบ้านเราอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายมากกว่า ส่วนเรื่องภาษี เรื่องราคา อยู่กับกระทรวงการคลัง เวลาตัดสินใจขึ้น หรือไม่ขึ้นภาษี จะมองเรื่องการหารายได้เข้ารัฐมากกว่าเรื่องสุขภาพ และมาตรการที่ต่างประเทศทำแต่ที่ประเทศเราไม่มีนั้น คือการกำหนดราคาขั้นต่ำของแอลกอฮอล์ตามหน่วยของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่อยู่ในเครื่องดื่ม การแยกให้ชัดเรื่องใบอนุญาตร้านคาปลีก กับร้านนั่งดื่ม ซึ่งจะส่งต่อการควบคุมคนละแบบ จริงๆ กฎหมายไทยมีข้อกำหนดชัดเจนว่าห้ามขายสุรา ให้ผู้ที่เมาครองสติไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถทำได้เลย  รวมถึงการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี  เราเห็นผู้ประกอบการต้องรับผิดตามกฎหมายทั้งสองข้อนี้น้อยมาก  ดังนั้นเรื่องกฎหมายตนมองว่าให้ครอบคลุม เข้มข้นขึ้น  แต่ตอนนี้ขอให้บังคับใช้สิ่งที่มีอยู่ไห้ได้ก่อน  โดยเฉพาะเรื่องเด็กและคนเมา

ด้าน นายเอ (นามสมมติ) กล่าวว่า ตนช่วยรุ่นพี่ ผู้ใหญ่ซื้อเหล้า บุหรี่ในหมู่บ้านมาตั้งแต่เด็กเลยมองเป็นเรื่องปกติ พอเข้าเรียนอาชีวะก็ใช้เหล้าและความรุนแรงสร้างการยอมรับจากเพื่อนๆ จนต้องดรอปเรียนทั้งกลุ่ม ไม่ยอมทำงาน แต่ใช้วิธีหาเงินแบบง่ายๆด้วยการปล้น หาเงินมาซื้อเหล้า ซื้อยาเลี้ยงตัวเองและเพื่อนๆ จนอายุ 17 ปี ในงานปาร์ตี้วันเกิด ที่กินดื่มกันเต็มที่ตนใช้ปืนยิงคู่อริที่ร้านข้าวต้ม  และยังย่ามใจถึงขนาดจะไปยิงซ้ำที่โรงพยาบาล แต่ระหว่างนั้นมีคนขับรถเบียดมา ตนก็ยิงเขาอีก และในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเพื่อนๆ สุดท้ายตนหนีได้ แต่ก็เข้ามอบตัวทีหลัง  รวมแล้วมีผู้ก่อเหตุ 6 คน โดยเป็นเยาวชน 5 คน ส่วนตัวต้องไปอยู่ที่สถานแรกรับที่มีสภาพเป็นคุกรวมเด็กก่อคดีรุนแรง การจะอยู่ให้รอดจึงต้องใช้ความรุนแรง ความเป็นมนุษย์ถอยห่างออกไปเรื่อยๆ  แต่พอตนเป็นนักกีฬาตัวแทนได้ออกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้างก็รู้สึกดีแม้เป็นเพียงอิสรภาพชั่วคราว จึงหาข้อมูลเพื่อมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก  อยากทำให้พ่อ แม่ดีใจ มีความสุขจริงๆบ้าง สุดท้ายตนก็ได้พิสูจน์ตัวเองและมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ  ซึ่งที่นี่ให้อิสระต่างจากที่เดิม  สอนให้เราคิดเป็น  มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม  เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  ตอนนี้ก็พ้นโทษออกมาแล้ว

“วันนี้ผมพ้นโทษแล้ว  หากมองย้อนกลับไปถ้าไม่ใช่เพราะเหล้าคงไม่กล้าทำอะไรรุนแรงแบบนี้ แต่มันเป็นตราบาปติดอยู่ในใจมาตลอดว่าเราเกือบจะฆ่าลูก หรือพ่อ หรือสามีของครอบครัวใด ครอบครัวหนึ่งไปเสียแล้ว สิ่งที่ผมสามารถทำได้เพื่อเป็นการเยียวยาสิ่งที่ติดอยู่ในใจได้คือ  การบอกเล่าประสบการณ์ก้าวพลาดนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ ต่อให้ต้องพูดล้านครั้ง ให้ล้านคนฟัง แต่มีเพียงแค่คนเดียวที่เข้าใจผมผมก็ถือว่าดีมากแล้ว ไม่อยากให้ใครก้าวพลาดแบบผมอีก” เยาวชนก้าวพลาด กล่าว.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *