3 จังหวัดหนุน อพท. ประกาศพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
อพท. เปิดเวทีฟังเสียงคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภาคี 3 จังหวัดเปิดแขนต้อนรับ พร้อมร่วมบูรณาการทำงานยกศักยภาพและขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวของพื้นที่ หนุน อพท. เดินหน้าจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 6 ปี (2565-2570) ชู 3 คุณค่าศักยภาพสูง ด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่เหมาะแก่การพัฒนา
ในการประชุมกลุ่มใหญ่เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) อพท. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ในรูปแบบ Virtual Talk ผ่านระบบออนไลน์ นำเสนอ 3 คุณค่าทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ของพื้นที่แห่งนี้ ที่มีความลึกซึ้งยาวนาน เหมาะสมในการขับเคลื่อนสู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีผู้สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 400 คน ซึ่ง อพท.ได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอนโยบายการทำงานให้แก่ผู้รับฟังได้รู้เข้าใจรูปแบบการทำงานของ อพท. ส่วนข้อเสนอจากทุกภาคส่วนจะนำไปรวบรวมและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระยะ 6 ปี (2565-2570) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นการท่องเที่ยว โดย อพท. จะดำเนินงานไปพร้อมกับการเตรียมเสนอให้ประกาศพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่พิเศษภายในปี 2565
“ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาครอบคลุมพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช แบ่งเป็น จังหวัดสงขลารวม 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง และบางกล่ำ จังหวัดพัทลุง รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสน และควนขนุน จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 2 อำเภอ อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร”
จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ประเมินพื้นที่ดังกล่าว พบว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาและยกระดับให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยได้คะแนนการประเมินกว่าร้อยละ 77 สูงกว่าค่าเกณฑ์มาตรฐานที่ อพท.กำหนดว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพจะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินในเบื้องต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 อพท. จึงได้กำหนดในแผนการทำงานที่จะเดินหน้าประกาศความพร้อมของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อ ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. ในลำดับต่อไป
การดำเนินงานของ อพท. เป็นไปตามที่ได้รับมอบนโยบายจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ อพท.เป็นหน่วยขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของประเทศ อันจะช่วยเพิ่มและกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนท้องถิ่น ด้วยการทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ทำงานประสานความร่วมมือกับท้องถิ่นและพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการพื้นที่ในเชิงคุณภาพ และอีกภารกิจที่สำคัญของ อพท. คือการประกาศพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้น อพท. พบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง ทั้งคุณค่าทางธรรมชาติ คุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณค่าทางวัฒนธรรม และยังตั้งอยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. แต่ก่อนการประกาศ อพท. ก็ต้องสอบถามความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ผลจากการรับฟังความคิดเห็นพบว่า ทุกภาคส่วนยินดีให้การสนับสนุน อพท. ประกาศพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ตามแนวทางการทำงานของ อพท. คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมเป็นเจ้าของ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง สนับสนุนการบูรณาการความเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยว ชุมชน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัด โดยเน้นการนำเสนออัตลักษณ์ วิถีชีวิต ศิลปะวัฒนธรรม รักษาดูแลฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ร่วมกันกำหนดนักท่องเที่ยวเป้าหมายทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงต้องการให้ อพท. ผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ด้านศิลปวัฒธรรม อีกด้วย ซึ่งข้อเสนอทั้งหมด อพท. จะรวบรวมนำไปจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต่อไป