วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต จัดอบรมหลักสูตรแบบ Nondegree “การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพ: LCA”
วิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดอบรมหลักสูตรแบบ Nondegree “การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพ: LCA” มุ่งพัฒนาวิศวกรชีวการแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรคาร์บอนต่ำและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนทั้งสิ้นกว่า 40 คน จากภาครัฐและเอกชน
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์โดยการสนับสนุนทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการดำเนินการเปิดอบรมหลักสูตรแบบ Non Degree รุ่นที่ 1 เรื่องการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อเศรษฐกิจบีซีจี แบบครบวงจรโดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนทั้งสิ้นกว่า 40 คน จากภาครัฐและเอกชน
วัตถุประสงค์ของการจัดการอบรมหลักสูตรดังกล่าว เนื่องมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศหรือแม้แต่ระดับองค์กรนั้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบรอบด้านและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภาวะโลกร้อน เนื่องจากประเทศไทยได้มีคำมั่นสัญญาในการที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) โดยเร็วที่สุดภายในระยะครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (Peak GHG Emissions) ใน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ขณะเดียวกัน จะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)
ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่เป้าหมายนั้นความรู้ความสามารถรวมทั้งทัศนคติและชุดความคิดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง สำหรับในส่วนของทางด้านการดูแลอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพนั้นมีแหล่งกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากทุกกิจกรรมการดำเนินการ สำหรับในส่วนของงานทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์นั้นมาจากทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตและ Supply Chain ของเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพ การสำรวจล่าสุดโดย GlobalData พบว่า บริษัทอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพโดยรวมได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการต่าง ๆเช่นการลดของเสีย การลดการใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้ Digital Healthcare Technology หรือTelemedicine โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลต่าง ๆ ในประเทศไทยได้เริ่มมีโครงการ GREEN and CLEAN Hospital หรือโครงการโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
เพราะว่าโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับโลกยุคใหม่มีความซับซ้อนที่ต้องเชื่อมโยงถึงเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบรอบด้านและยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อน ดังนั้น ในฐานะที่วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตในทุกระดับ รวมทั้งเพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องออกไปทำงานรับใช้สังคมในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์และการให้บริการการดูแลรักษาสุขภาพ จากผลการดำเนินการของหลักสูตรทั้ง 2 รุ่น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ทั้งในด้านผลการประเมินจากผู้เข้าร่วมอบรม ผลการประเมินจากองค์กรที่ส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมรวมทั้งพบว่า ผู้สำเร็จการอบรมส่วนหนึ่งสามารถใช้ชุดความคิด ชุดองค์ความรู้และทักษะในการพัฒนางาน สำคัญที่สุดก็คือ ผลทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยที่ถือว่าวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุดความคิด ชุดองค์ความรู้และชุดทักษะ ทางด้านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพ ให้กับบุคลากรต้นแบบหรือแม่ไก่ให้กับประเทศไทย เพื่อไปขยายผลให้กับองค์กรและประเทศไทยต่อไปในอนาคต เป็นผู้นำและบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในยุทธศาสตร์ทั้งในระดับโลก ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยรวมทั้งยุทธศาสตร์ขององค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่อง GREEN and CLEAN Hospital หรือโครงการโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต กล่าวปิดท้าย