การศึกษา

วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต แถลงข่าวและนำเสนอผล “Leadership Poll” (ครั้งที่ 1/2567)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดตัวโครงการ “Leadership Poll” ภายในงานมีการแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นลีดเดอร์ชิพโพลล์ ครั้งที่ 1/2567 โดย รองศาสตราจารย์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ในฐานะหัวหน้าลีดเดอร์ชิพโพลล์ นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1. ความคิดเห็นต่อนโยบาย “เงินหมื่นดิจิตอล” ของรัฐบาล 2. ความคิดเห็นต่อโครงการ “แลนด์บริดจ์” ของรัฐบาล 3. ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “ซอฟต์พาวเวอร์” ของรัฐบาล 4. ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 5. ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งโพลล์ดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 543 ตัวอย่างในเดือนมกราคม 2567 จากกลุ่มผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (PURPOSIVE SAMPLING) ณ ห้องประชุม 1-308 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต

รายละเอียดผลสำรวจความคิดเห็น ดังนี้

Leadership Poll ครั้งที่ 1/2567 วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม

โพลล์ผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง จัดทำโดยวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน เก็บข้อมูลทั้งสิ้น 543 ตัวอย่างในเดือนมกราคม พ.ศ.2567 จากกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้นำภาคธุรกิจ: ตัวแทนนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
  2. ภาคประชาสังคม: ตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย
  3. ภาคการเมือง: นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกและรองนายก อบจ. นายกและรองนายก อบต. ในทุกภูมิภาคของประเทศ
  4. ภาคการศึกษา: นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน

สอบถามความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล ดังต่อไปนี้

  1. ความคิดเห็นต่อนโยบาย “เงินหมื่นดิจิตอล” ของรัฐบาล
  2. ความคิดเห็นต่อโครงการ “แลนด์บริดจ์” ของรัฐบาล
  3. ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “ซอฟต์พาวเวอร์” ของรัฐบาล
  4. ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  5. ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ผลการสำรวจ พบว่า

  1. ความคิดเห็นต่อนโยบาย “เงินหมื่นดิจิตอล” ของรัฐบาล

62.20 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ

21.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง

13.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา

3.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น

– ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น

– ไม่แน่ใจ

– ไม่ค่อยสนใจ

  • ความคิดเห็นต่อโครงการ “แลนด์บริดจ์” ของรัฐบาล

36.70 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง

29.60 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ

28.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา

5.70 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น

          – ไม่ทราบรายละเอียด

          – ต้องการข้อมูลที่ศึกษา

          – ไม่แน่ใจ

  • ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “ซอฟต์พาวเวอร์” ของรัฐบาล

41.10 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา

37.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง

14.50 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ

1.40 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น

            – ไม่ทราบรายละเอียด

          – เห็นด้วยเป็นบางอย่าง

          – ยังเข้าใจไม่ชัดเจน

  • ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

52.40 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา

28.8 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

14.5% ไม่เห็นด้วย

4.3% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น

– ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112

– แก้ไขบางมาตราที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ

– นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้และพิจารณาปรับปรุงหลักการในบางมาตรา

  • ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

51.20 % ยังคงขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินการ

34.90 % มีความมุ่งมั่นแต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม

9.40 % มีความมุ่งมั่น

4.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ g=jo

          – ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น

          – ไม่ทราบแน่ชัด

          – ไม่แน่ใจ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังน้อยเกินกว่าที่จะประเมิน

ข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ได้จากการสำรวจ

  1. เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร อย่างน้อยนโยบายที่ใช้หาเสียงก็ควรมีการดำเนินการตามที่เคยพูดไว้ยังมองไม่ออกว่าอะไรที่ทำไปแล้ว และอะไรที่ยังไม่ได้ทำก็ควรชี้แจง
  2. รัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย เป็นตัวอย่างของการรักษาความยุติธรรม ไม่ให้อภิสิทธิใครให้อยู่เหนือกฎหมาย
  3. การพัฒนาประเทศควรใช้สิ่งที่ไทยได้เปรียบเป็นสารตั้งต้นสำคัญ นโยบายสาธารณะที่ดีบางครั้งเกิดจากนวัตกรรมทางกระบวนการ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการก็อาจมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล
  4. รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา ในเรื่องของยาเสพติด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเร่งด่วน
  5. รัฐบาลควรลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริต การศึกษาและการทำงานของข้าราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน
  6. รัฐบาลยังคงกังวลเรื่องคะแนนเสียงมากกว่าการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ
  7. โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดูไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องขนของจากเรือที่ฝั่งอ่าวไทย ขนขึ้นรถไฟ แล้วขนลงเรืออีกครั้งที่ฝั่งอันดามัน ไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติจริง ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ต้องขนของขึ้นๆลงๆ จากเรือ คือให้เรือทั้งลำแล่นผ่านไปได้เลย
  8. ควรให้ความสนใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมและการศึกษาในระดับแรกๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อนาคตของประเทศไทยดูแล้วมีแต่ถอยหลังเพราะเยาวชนของชาติไม่มีคุณภาพ คนไทยไม่ชอบใช้เหตุผล ใช่อารมณ์และความชอบส่วนตัวในการตัดสินใจปัญหา สนใจไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์
  9. เข้าใจว่าผู้นำหลายท่านกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติความขัดแย้งที่เป็นผลเรื้อรังมานับสิบปีก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากไม่มีแผนการดำเนินงานดังกล่าว ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะตกอยู่ในภาวะ Burnout และเลือกที่จะชะลอการสร้างผลผลิต (Productivity) หรือเลือกที่จะไม่พัฒนาศักยภาพ (Capacity) ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต โดยอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หรือสร้างความภูมิใจร่วมที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้
  10. เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ประเทศเกิดภาวะที่จะเรียกว่าวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ถ้าจะแจก ควรกำหนดกลุ่มผู้เดือดร้อนให้ชัดเจน และเมื่อเป็นเงินกู้ เหตุใดจึงต้องจ่ายเป็นเงินดิจิทัล ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินบาท ใครเป็นผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการแลกเปลี่ยน และมีค่าใช้จ่ายในการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *