บริษัทก่อสร้างชั้นนำ หนุน ม.วลัยลักษณ์ เอ็มโอยูพัฒนางานวิจัยในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
2 บริษัทก่อสร้างชั้นนำของประเทศ ร่วมกับ ม.วลัยลักษณ์ เซ็นเอ็มโอยูพร้อมมอบทุนกว่า 1 ล้านบาท หนุนงานวิจัยวัสดุแท่งคอมโพสิตและคอนกรีตรีไซเคิล เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย นายพิสิษฐ์ จรัสพงศ์ถาวร กรรมการบริหาร บริษัท จีเอฟอาร์พี คิงส์ และนายประเสริฐ ตั้งเด่นไชย กรรมการผู้จัดการบริษัท ปัญญาคอนกรีต จำกัด ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัสดุแท่งคอมโพสิตและคอนกรีต โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นประธานในพิธี มีผู้บริหารของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องINNOVATION HUB อุทยานวิทยาศาสตร์ฯและห้องเกียรติยศ รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาวัสดุแท่งคอมโพสิตในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ศึกษาและวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์วัสดุแท่งคอมโพสิต พัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างคอนกรีตและนวัตกรรมการก่อสร้าง ศึกษาและวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากคอนกรีตรีไซเคิล พร้อมทั้งการสนับสนุนความร่วมมือการทำวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต ภายใต้กรอบเวลา 3 ปี
โอกาสเดียวกันนี้ ทั้ง 2 บริษัทและม.วลัยลักษณ์ ยังได้การลงนามในสัญญาโครงการวิจัย จำนวน 2 โครงการ พร้อมสนับสนุนทุนการวิจัยให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย รวมทั้งสิ้น 1,075,000 บาท ด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวถึงความสำคัญของโครงการวิจัยในครั้งนี้ ว่า อุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก การนำวัสดุคอนกรีตรีไซเคิลและวัสดุแท่งคอมโพสิตมาใช้ จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศไทยได้
“ในอนาคตเรามีแผนในการก่อสร้างอาคารจริงขนาด 3 ชั้น ที่ใช้วัสดุแท่งคอมโพสิต 100% เป็นโครงสร้างเสริมแรง โดยจะตรวจวัดและติดตามผลด้านความทนทานและประสิทธิภาพของวัสดุต่อสภาพแวดล้อมจริงเป็นระยะเวลา 12 เดือน เพื่อประเมินความทนทานและความสามารถในการรองรับน้ำหนักในระยะยาว” รองศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ กล่าว
ส่วนการใช้คอนกรีตรีไซเคิลสำหรับผลิตลูกปูนหนุนเหล็กเสริมในโครงสร้างคอนกรีต จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่และลดขยะก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสึกกร่อนของเหล็กเสริมในคอนกรีต ทนทานต่อการกัดกร่อนในสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง ที่สำคัญจะช่วยยืดอายุการใช้งานของโครงสร้างได้อีกด้วย