จิตแพทย์-เภสัชฯ และเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านปัญหายาเสพติด ดาหน้าค้านปลด “กัญชา” ออกจาก ยส.5
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “มองรอบด้าน : ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือที่จะตัดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด”
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผอ.ศศก. กล่าวว่า ตนไม่คัดค้านที่จะให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะปลดกัญชาออกจากยาเสพติดทั้งหมด เพราะปัจจุบันยังมีรายงานผู้ที่ได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้กัญชาโดยรวมอยู่ โดยเฉพาะสาร THC ที่มีผลกระทบต่อการทำงานหลายระบบในร่างกายโดยเฉพาะสมอง ที่น่ากังวลคือปัญหาโรคจิต อาการทางจิต ไบโพลาร์ กัญชาจะทำให้มีอาการกำเริบได้ ทั้งนี้จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 ของคณะกรรมการบริหารเครือข่ายวิชาการยาเสพติด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พบคนไทยอายุ 12 ปีขึ้นไปมีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น 3.5-3.6 เท่าจากปี 2559 หลังการอนุญาตให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ สอดคล้องกับข้อมูลของ ศศก.ที่พบว่ามีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการกว่า 1 ล้านคนถือว่าสูงมาก ขณะที่ต่างประเทศทำการมอนิเตอร์มา 10 ปี พบว่ามีการใช้ THC ในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อันตรายจากสาร THC มีตั้งแต่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองสั่งการช้าลง เซื่องซึม การตัดสินใจช้าลง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนและจากการทำงานที่ใช้เครื่องจักร และยังไปเพิ่มโดปามีนในสมองบางส่วนส่งผลเกิดอาการคล้ายโรคจิต เห็นภาพหลอน หวาดระแวง เป็นต้น หากปลดล็อคทุกอย่างเสี่ยงที่จะมีการใช้ในทางที่ผิดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เช่นเป็นสูตรผสมสารเสพติดอื่น ๆ โดยเฉพาะการใช้ในกลุ่มวัยรุ่นอย่างต่อเนื่องพบว่าจะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ (IQ) ลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งค่อนข้างอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ รายงานในต่างประเทศพบว่าการใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ สารในกัญชา เช่น CBD มีการทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคหลายชนิดมาก โดยไปยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ทำลายยาอื่นโดยเฉพาะยายับยั้งการแข็งตัวของเลือด จะมีโอกาสเพิ่มอาการข้างเคียงจากเลือดหยุดไหลยากได้
“ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่การจะปลดออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตนยังไม่เห็นด้วย ต้องคิดให้รอบคอบเพื่อเป็นการคุ้มครองคนไทยโดยรวมจริง ๆ การคุมสารสกัด THC ไม่ให้เกิน 0.2% ถามว่าในชีวิตจริงหน่วยงานใดจะสามารถตรวจสอบได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมทั้งประเทศ” รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี กล่าว
ด้าน ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า THC ในกัญชามีผลทำให้เกิดโรคจิตและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภทซึ่งเป็นโรคจิตเรื้อรังอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณมาก ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคจิตเภทเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างมาก ส่วนใหญ่ไม่สามารถเรียนหรือประกอบอาชีพได้อีกต่อไป มักต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากญาติและสังคมไปตลอดชีวิต การรักษาโรคจิตเภทก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นการเกิดโรคจิตจากการใช้กัญชาจึงเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ สำหรับการเผยแพร่ข่าวสารว่า สารสกัดกัญชาช่วยรักษาโรคจิตได้นั้น ตนขอชี้แจงว่า เรายังมีข้อมูลน้อยเกินกว่าที่จะนำสารสกัด CBD ในการรักษาโรคจิต สำหรับสารสกัด THC นอกจากไม่พบว่ามีประโยชน์กับโรคจิตเภทแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยโรคจิตมีอาการเลวลงอีกด้วย โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นด้วยกับการนำพืชและผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่พืชหรือผลิตภัณฑ์กัญชาที่มี THC เกิน 0.2% ก็ยังควรถูกควบคุมการผลิตและใช้อยู่ โดยอาจนำแนวทางบริหารจัดการยาเสพติดที่มีการนำมาใช้ทางการแพทย์อยู่แล้ว เช่น มอร์ฟีน เมธาโดน มาใช้กับพืชและผลิตภัณฑ์กัญชา
คุณวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ กล่าวว่า แม้การใช้กัญชาทางการแพทย์จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยบางโรค แต่การเสพตัวกัญชาเองก่อให้เกิดผลกระทบมากมายทั้งต่อตัวผู้ใช้ ครอบครัวและสังคมโดยรวมมากมาย และกล่าวสรุปในนามตัวแทนภาคีเครือข่ายว่า “เราเห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องยกเลิกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ขอคณะกรรมการ ปปส. ให้ชะลอการตัดกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการรับฟังความรอบด้านและมีกฎหมายและแผนในการควบคุมผลกระทบที่ชัดเจน”