ม.รังสิต ร่วมสืบสานการทำกระทงจากกะลา เพื่ออนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม
ประเพณีลอยกระทง ถือเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยอันงดงาม สืบสานกันมาอย่างยาวนาน โดยรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริม Soft power ของประเทศอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบสูง ผ่านคอนเทนต์ ๑๑ อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ ซึ่งในปี ๒๕๖๗ นี้ กระทรวงวัฒนธรรม เน้นแนวคิด “ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” สืบสานคุณค่าสาระวัฒนธรรมไทย ผลักดัน Soft Power เทศกาล สู่ World Event หมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
มหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานประเพณีลอยกระทง สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจําปีการศึกษา ๒๕๖๗ ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ณ บริเวณด้านหน้ามณฑปพระศรีศาสดา มหาวิทยาลัยรังสิตขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษา บุคลากร และประชาชนชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยรังสิตได้อนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรมอันดีงาม รวมถึงการนําทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรมมาต่อยอดและสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกทั้งเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน การแสดงผลงาน ความสามารถพิเศษมิติศิลปะ วัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการระหว่างวิชาการกับกิจกรรมของนักศึกษา ให้สามารถสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสังคมภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยรังสิตยิ่งขึ้น
กิตติธัช ช้างทอง อาจารย์สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การลอย“กระทงจากกะลา” ดำเนินกิจกรรมมาแล้วกว่า ๑๐ ปี โดยสถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คณะกรรมการนักศึกษาทุน ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์, ทุนดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และทุนคุณพ่อประสิทธิ์ และคุณหญิงพัฒนา อุไรรัตน์ ได้มุ่งเน้นส่งเสริม รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงปัญหาอันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นและตัวอย่างในการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมมาสานต่อสู่วิถีชีวิตคนเมืองยุคใหม่ในปัจจุบัน และยังสอดคล้องกับ BCG Economy Model แนวคิดเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environment) การลดปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลก เน้นพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างทั่วถึงบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
“กระบวนการเริ่มต้นการประดิษฐ์กระทงจากกะลา โดยทางคณะกรรมการนักศึกษาทุนฯ ได้เปิดรับบริจาคกะลามะพร้าว และเทียนที่เหลือใช้จากการประกอบพิธีทางศาสนาของวัด บริเวณใกล้เคียงบ้านพักของนักศึกษา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการต่อยอดการทำกระทงในครั้งนี้ โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาทุนฯ นำกะลามะพร้าว และเทียน จากแหล่งต่างๆ เช่น ตามภูมิลำเนา วัด และโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้กะลาแล้วในบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัย จากนั้นนำมาคัดสรรเข้าสู่ขั้นตอนการคัดแยกกะลาที่มีลักษณะสมบูรณ์ที่สุดไม่แตก หัก บิ่น มีรู หรือขึ้นรา จึงนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป โดยนำกะลาที่มีตำหนิน้อยที่สุดมาใช้กระดาษทรายขัดบริเวณพื้นผิวของกะลา จนกว่ากะลาจะมีผิวสัมผัสเรียบเนียน ไม่กระด่าง และได้รูปทรงภายนอกที่สวยงามแล้ว ก็จะนำเทียนที่ได้มาหลอมด้วยความร้อนจนกลายเป็นเทียนเหลวใส่ภาชนะเพื่อที่จะเทลงสู่กะลามะพร้าว จากนั้นเมื่อเทียนเริ่มแห้งจึงจะนำไส้เทียนมาใส่ไว้กลางกระทงกะลาแล้วรอให้แห้งสนิท จึงถือว่าเป็นอันเสร็จขั้นตอนกระบวนการทำกระทงจากกะลา”
กระทงจากกะลา รักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม จะนำมาจัดจำหน่ายในช่วงประเพณีวันลอยกระทง มหาวิทยาลัยรังสิต ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ณ บริเวณด้านหน้ามณฑปพระศรีศาสดา มหาวิทยาลัยรังสิต จัดจำหน่ายในราคาใบละ ๒๐ บาท ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายจะนำไปต่อยอดในโครงการของนักศึกษามอบสู่ “สังคม ชุมชน ศาสนา และสิ่งแวดล้อม” ต่อไป