ประชาสัมพันธ์

มวล.เปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวสายมู “Infinity Rich รวยไม่รู้จบ@สิชล”

ม.วลัยลักษณ์ เปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ “Infinity Rich รวยไม่รู้จบ” เชื่อมโยง 8 จุดท่องเที่ยวสำคัญของอ.สิชล จ.นครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง ใช้วัดเจดีย์เป็นศูนย์กลางพื้นที่ทางวัฒนธรรม ชวนนักท่องเที่ยวสายมู สัมผัสประสบการณ์เสริมสิริมงคล กระตุ้นการท่องเที่ยวให้คึกคัก พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน บพท.ร่วมหนุน

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดตัวพื้นที่ทางวัฒนธรรมสันทรายโบราณ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และเส้นทางการท่องเที่ยว “Sichon Spiritual Trip: Heal Heart, Heal Life and Heal Luck @ สิชล Infinity Rich รวยไม่รู้จบ” ภายใต้โครงการวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมฐานความเชื่อโดยรอบสันทรายโบราณ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอสิชล นครศรีธรรมราช (ศรีชล) โดยมี บพท.เป็นผู้ให้การสนับสนุน ท่ามกลางความสนใจจากนักท่องเที่ยว สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าร่วมคึกคัก

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยของม.วลัยลักษณ์มองว่าเป้าหมายของผู้คนที่มายังวัดเจดีย์ เพื่อสักการะขอพรและต้องการสมหวัง ดังนั้นการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่จะเชื่อมโยงทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่อำเภอสิชล จึงมีการเชื่อมโยงกับความเชื่อและความศรัทธาในพื้นที่รวมถึงอำเภอใกล้เคียง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว Infinity Rich รวยไม่รู้จบ โดยนักวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาแบรนด์ “ศรีชล” เป็นตัวแทนของการเชื่อมโยงสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรืองความมุ่งมงคลความสมหวังความเจริญก้าวหน้าของพื้นที่สันทรายโบราณอำเภอสิชล

โดยเส้นทางท่องเที่ยว Infinity Rich รวยไม่รู้จบ มีจุดท่องเที่ยว จำนวน 8 แห่ง เริ่มตั้งแต่วัดยางใหญ่เพื่อสักการะขอพรตาพรานบุญ บอกเล่าปัญหาอุปสรรคให้กับท้าวเวสสุวรรณหน้ายักษ์ ก่อนขอพรท้าวเวสสุวรรณหน้าเทพ เชื่อมโยงต่อไปไปยังวัดศิลาชลเขตขอพรต่อพ่อท่านโบองค์ใหญ่ และเชื่อมสู่เทวาลัยพระพิฆเนศเขาคา ที่มีความเชื่อว่าเมื่อกระซิบข้างหูแล้วขอพรจะสมหวัง เมื่อสมหวังแล้วให้แก้บนด้วยนม ขนม

หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้าสู่วัดเจดีย์เพื่อสักการะขอพรต่อไอ้ไข่ ก่อนเดินทางไปขอพรจากศาลเจ้าพ่อม่วงทองที่มีเซียมซีที่แม่นดังตาเห็น ก่อนเดินทางไปขอพรต่อศาลเจ้าปึงเถ่ากงไซสี่หรือ ศาลเจ้าตาปะขาว ปากน้ำสิชล ศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และปิดท้ายด้วยวัดสุชนเพื่อสักการะขอพรจากท้าวเวสสุวรรณ (พ่อรวย) ซึ่งระหว่างทางมีร้านอาหารการกินและสินค้าให้เลือกซื้อจำนวนมาก

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า งานวิจัยดังกล่าวได้เชื่อมโยงโดยใช้วัดเจดีย์เป็นศูนย์กลางและทำเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว รวยไม่รู้จบ เป็นกลไกนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชนแทรกเข้าไป หวังให้ผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสินค้า เมื่อเดินทางมายังอ.สิชลแล้ว ได้มาเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่จากชุมชนควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ชุมชนชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และทำอย่างไรเมื่อมาเที่ยวอ.สิชลแล้วได้ไปต่อในพื้นที่อื่นๆของสิชลและใกล้เคียงด้วย

“เรายังพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจากสิ่งของที่ผู้คนมาแก้บนไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาไก่ที่แตกหักแล้ว รวมไปถึงเศษประทัดที่จุด หางประทัด เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดขยะ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนทางคาร์บอน นำมาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการทำก้อนอิฐ “อิฐต่อ ก่อบุญ” กระเป๋าหรือพวงกุญแจจากหางประทัด การร้อยลูกปัดโนรา ผ้าบาติกสีธรรมชาติ รวม Art Toy น้องร่ำรวย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธาของไอ้ไข่วัดเจดีย์ที่ผู้ใช้สามารถรับพลังความสำเร็จความร่ำรวยจากสิ่งของเหล่านี้ได้” รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *