Uncategorized

สสส. ชู วิทยาลัยการอาชีพละงู จ.สตูล ใช้ “สื่อรักชวนเพื่อนพักบุหรี่” จัดกิจกรรมประกวดหนังสั้น สะท้อนพิษภัย หวังสร้างความตะหนักรู้ ลด ละ เลิก บุหรี่ ทั้งใน-นอก สถานศึกษา

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่วิทยาลัยการอาชีพละงู จ.สตูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และองค์การวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย วิทยาลัยการอาชีพละงู จัดกิจกรรม โครงการสื่อรักพักบุหรี่ (เลิกสูบ ก็เจอสุข) ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา พร้อมประกาศรางวัลประกวดคลิปวีดิโอหนังสั้น ที่สะท้อนเรื่องราวพิษภัยจากการสูบบุหรี่

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่าจากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า นักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน ในโรงเรียน 87 แห่ง สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 17.6% หรือ 5.3 เท่า โดยกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์มุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชนมากขึ้น มีการพบเห็นโฆษณาและการส่งเสริมการขายทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 ในปี 2565 และ นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซองและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติ โดย ร้อยละ 31.1 เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และร้อยละ 36.5 เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็กและวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น ซึ่งทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ามี ‘สารนิโคติน’ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทำให้เกิดการเสพติด อย่างไรก็ตามอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ายังมีมากกว่าบุหรี่ธรรมดา เนื่องจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายเกือบ 2,000 ชนิด และนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา เมื่อสูบแล้วจะเป็นไอละอองฝอยเทียบเท่าฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปทำลายสุขภาพปอดและระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือด และยังมีฤทธิ์กระตุ้นการเสพติดง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“ที่น่ากังวลมากที่สุด ในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้นทางของการสูบบุหรี่และการเสพติดนิโคตินของเด็กและเยาวชน งานวิจัยพบว่าเด็กที่ได้ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 4-5 เท่า ขณะที่เด็กจะมีพฤติกรรมการสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มเป็น 7 เท่า ที่สำคัญบุหรี่ยังนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นอีกด้วย” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นายสะเทือน สรรพจักร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพละงู กล่าวว่า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูบ ควันบุหรี่มือสองยังส่งผลกระทบต่อคนใกล้ชิด กลายเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาทางวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันยาเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพราะส่วนมากนักศึกษาจะเป็นเพศชาย ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดอย่างบุหรี่ ทำให้ครูอาจารย์ต้องคอยเฝ้าระวังตามจุดลับตาต่าง ๆ และตรวจตราใต้เบาะรถจักรยานยนต์ กระเป๋า เพื่อไม่ให้มีการแอบนำเข้ามาในวิทยาลัย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่เริ่มพบในเด็กนักเรียนหญิง และขายเกลื่อนออนไลน์ นอกจากนี้ยังบูรณาการเรื่องยาเสพติดสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กีฬาสี กีฬา อบต. เพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่าวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้

“วิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ที่สนับสนุนโดย สสส. ทำให้เกิดเวทีกิจกรรมครั้งนี้ และผลที่เกิดขึ้นจากการร่วมโครงการยังทำให้การสูบบุหรี่ลดลงอีกด้วย ต้องขอขอบคุณ สสส. ที่นำโครงการดี ๆ และงบประมาณลงมาสนับสนุน ให้วิทยาลัยสามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดได้ต่อไป” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพละงู กล่าว

นางสาววรรณวิศา เพ็ชรสุข ครูที่ปรึกษาองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย วิทยาลัยการอาชีพละงู และครูแกนนำ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2566 มีหนังสือจาก สสส. ส่งมาที่วิทยาลัย เชิญชวนให้ส่งตัวแทนครูแกนนำ 2 คน และนักศึกษาแกนนำ 4 คน เพื่อไปอบรมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยในการไปอบรมนักศึกษาจะเป็นผู้เขียนโครงการตามโจทย์ที่ได้รับในการอบรม ซึ่งนักศึกษาได้เขียนโครงการขึ้นมาเองในชื่อ “เลิกสูบ ก็เจอสุข” โดยนักศึกษาแกนนำที่ร่วมกิจกรรมคือนักศึกษาขององค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทยวิทยาลัยการอาชีพละงู ซึ่งกลุ่มนี้เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในวิทยาลัยอยู่แล้ว มีทักษะ มีความกล้าแสดงออก โดยกิจกรรมครั้งนี้จะมีทั้งการประกาศผลรางวัลประกวดหนังสั้น ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับ ปวส. มาจากทีม Teenager (ช่วงวัยรุ่น) โดยนักศึกษาแผนกวิชาการท่องเที่ยว  ในชื่อผลงาน “ถนนสองสาย” รับรางวัลชนะเลิศ ระดับ ปวส. ได้แก่ทีม สายช่างเชื่อม จากแผนกวิชาช่างเชื่อม ตอน “กลับตัวกลับใจในวันที่ยังไม่สาย” นอกจากนี้ยังมีการอบรมให้ความรู้กับนักศึกษา ซึ่งก่อนหน้านี้นำโครงการนี้ไปนำเสนอในการรณรงค์อีกด้วย

“มีนักศึกษาส่งผลงานมาทั้งหมด 12 คลิป โดยมีเกณฑ์ตัดสิน คือ ความน่าสนใจ 20 คะแนน มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการเลิกบุหรี่และสอดคล้องกับโครงการ 35 คะแนน ความเหมาะสมของเวลา 5-10 นาที 10 คะแนน มีการเผยแพร่สู่สาธารณะมากกว่า 3 ช่องทาง ได้อีก 15 คะแนน คลิปวิดีโอมีข้อคิดคติสอนใจ 20 คะแนน รวม 100 คะแนน และผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในวิทยาลัยสูบบุหรี่ส่งผลกระทบต่อการเรียน พอเลิกสูบชีวิตก็ดีขึ้น ซึ่งมานำเสนออย่างน่าสนใจ ครูรู้สึกภูมิใจที่เห็นเด็กร่วมกิจกรรม บางคนที่เคยเขาทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมเกเร แต่พอเห็นว่าเขามาอยู่ในคลิปการแสดง และทำได้ดีด้วย ที่สำคัญในการทำวีดิโอ พวกเขาได้ค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องกฎหมายและพิษภัยของบุหรี่ด้วย” นางสาววรรณวิศา กล่าว

นางสาวสุกัญญา บุญชู นักศึกษาแผนกวิชาการท่องเที่ยว และนายกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย วิทยาลัยการอาชีพละงู ตัวแทนนักศึกษาแกนนำ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการนี้หลังจากที่ทางวิทยาลัยได้ส่งรุ่นพี่นักศึกษาแกนนำไปอบรมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนำองค์ความรู้รวมทั้งโครงการที่นำนำเสนอในการอบรมมาสานต่อในวิทยาลัย แต่เมื่อรุ่นพี่จบการศึกษา เธอในฐานะรุ่นน้องได้เข้ามารับหน้าที่ต่อ และหลังจากที่วิทยาลัยได้รับหนังสือเชิญชวนประกวดหนังสั้น ที่ระบุว่าให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ และชักชวนทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ก็ได้เชิญชวนเพื่อนให้มาร่วมกิจกรรม โดยส่วนตัวพบเห็นปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณห้องน้ำของวิทยาลัยอยู่บ้าง ส่วนในครอบครัวก็มีคุณพ่อที่เป็นคนสูบบุหรี่และเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่เช่นกัน เธอรับมือกับปัญหานี้โดยการพยายามเข้าไปตักเตือน

“พ่อสูบบุหรี่ หนูพยายามเข้าไปตักเตือน แต่พ่อก็ไม่ยอมหลุดออกจากวงจรนั้น จนท้ายที่สุดมารู้ตัวว่าป่วยก็สายเกินไป มาเลิกตอนที่ร่างกายไม่ไหวแล้ว พ่อป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดและเสียชีวิต จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวอยากสะท้อนเรื่องราวนี้ให้กับเพื่อน ๆ เรารู้ว่าคนที่สูบอาจจะอาจจะเกิดจากความเครียดความเหนื่อยล้า หรือบางครั้งอาจจะมีเพื่อนชวนไปบ้าง แต่หากพวกเขาไม่เห็นความจริงถึงผลเสีย ก็คงไม่หยุด อยากให้ทุกคนลองหากิจกรรมอื่นทำมากกว่ามาสูบบุหรี่เพราะผลเสียมีมากกว่าที่เราคิด” ตัวแทนนักศึกษาแกนนำ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *