เรียนสถาปัตย์ เน้นวิธี และกระบวนการคิดประยุกต์ใช้จริงได้ทั้งงานออกแบบ ธุรกิจ และการใช้ชีวิต
“บรรยากาศการเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ นักศึกษาสถาปัตย์มักต้องทำงานเป็นกลุ่ม และทำโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้ทักษะในการสื่อสารและการจัดการเวลาอย่างมาก เพื่อผลงานการออกแบบ การเขียนแบบ ของเราที่ดีที่สุดเพื่อให้ผ่านการนำเสนอผลงานแก่ลูกค้าที่เป็นอาจารย์” เบส – วิศวพิชญ์ ปรีชานนท์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันเจ้าของบริษัท Section08 Design And Development และ ร้านคาเฟ่ Rayrai Cafe จังหวัดอุบลราชธานี
หากใครไปเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี แล้วมองหาร้านคาเฟ่น่ารัก ๆ สไตล์ธรรมชาติ บรรยากาศดีมีทั้งโซนห้องแอร์เย็นฉ่ำ และโซนเอาท์ดอร์ แถมการเดินทางยังสะดวกสบาย โลเคชันร้านตั้งอยู่ริมถนนและมีที่จอดรถเยอะ ต้องมีร้านคาเฟ่ที่ชื่อ Rayrai Cafe อยู่ในลิสที่ต้องแวะมาเยี่ยมเยียนอย่างแน่นอน และด้วยการออกแบบที่โดดเด่น สะดุดตา ทำให้ต้องตามหาเจ้าของร้าน และเชื่อว่าต้องร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้พบกับ พี่เบส – วิศวพิชญ์ ปรีชานนท์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของร้านคาเฟ่แห่งนี้ เล่าว่า ก่อนจะมาเป็นเจ้าของร้านคาเฟ่ได้ ก็มีเรื่องราวพอสมควร หากย้อนกลับไปสมัยยังเป็นนักเรียนมัธยมฯ คงยังมองภาพไม่ออกว่า ณ วันนี้เราได้มาทำสิ่งนี้
แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือภาพร้านคาเฟ่ที่แสดงออกถึงความเป็นตัวเอง เราได้ออกแบบเอง ซึ่งมาจากวิชาชีพที่เรียนนั่นคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต อยากออกแบบบ้าน ออกแบบอาคารต่าง ๆ แค่คิดว่าตัวเองมีความชอบอะไร ไม่คิดเยอะ อยากเรียนต้องได้เรียน เมื่อเข้ามาเรียนวิชาที่ชอบเรียนมากที่สุดคือ วิชาดีไซน์ เป็นวิชาที่สอนตั้งแต่เริ่มต้น สอนให้เรามองภาพรวม และจัดระบบการทำงาน ของการเป็นสถาปนิก เราได้ลงมือออกแบบอาคารใหญ่จากโปรเจกต์ช่วงปี 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบและท้าทาย ได้ฝึกกระบวนการคิด ฝึกจิตนาการ กระบวนการคิด วิธีการคิด เป็นสิ่งที่ซึมซับมาตลอดตั้งแต่เข้ามาเรียน
เริ่มต้นคิด เริ่มต้นวางแผน ออกแบบแปลน ทุกขั้นตอนที่มีรายละเอียด เราสามารถมองเห็นภาพกว้าง และเข้าไปเก็บรายละเอียดงานได้ การลำดับงานต่าง ๆ ตรงนี้ไม่ใช่เพียงแค่นำมาใช้ในวิชาชีพสถาปัตย์ แต่เอามาใช้ได้จริงในการดำเนินชีวิต ซึ่งทำให้เรามองความเป็นไปได้ของสิ่งที่เราจะลงมือทำหรือตัดสินใจทำ เป็นที่มาว่าหลังเรียนจบปริญญาตรีแล้ว กลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน รับงานออกแบบ รวมถึงอยากเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย จึงเปิดร้านคาเฟ่ควบคู่ไปกับการทำงานออกแบบ อย่างที่บอกทำไมถึงเลือกเปิดร้านคาเฟ่ เหตุผลเดียวกันกับการเลือกเรียนสถาปัตย์ เพราะชอบดื่มกาแฟจึงเปิดร้านคาเฟ่ และคำถามว่าจะไปรอดไหม เพราะเราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ หรือรู้จักการทำธุรกิจร้านคาเฟ่เลย
คำตอบของพี่เบส – วิศวพิชญ์ คือ เราไม่ได้เริ่มจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นกาแฟ แต่เราเริ่มจากงานออกแบบ การทำร้านคาเฟ่ต้องมีการออกแบบร้าน มีการก่อสร้าง การออกแบบภายในต่าง ๆ ส่วนนี่คือต้นทุนที่เรามี เราเรียกว่าความต้นความรู้ทางวิชาชีพ ทำให้เราสนุกกับงานดีไซน์ ทุกรายละเอียดตั้งแต่เริ่มออกแบบไปจนถึงการก่อสร้าง ตกแต่งภายในจนแล้วเสร็จ ตรงนี้เป็นจุดที่เราคิดว่าเราพึงพอใจแล้วซึ่งตอบโจทย์ที่เราเรียนมา อย่างน้อยร้านคาเฟ่นี้เป็นการแสดงฝีมือของเราให้คนพบเห็น และเป็นที่มาให้เรามีงานออกแบบอื่นๆ เขามาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นความชอบรองที่เราเป็นคนชอบดื่มกาแฟ รวมถึงทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการธุรกิจร้าน เราเริ่มเรียนรู้ใหม่ไปพร้อมกัน สิ่งไหนที่เราไม่มีต้นทุนความรู้เลยเราก็หาเวลาไปเรียนรู้ตรงนั้น มีลองผิดลองถูกบ้างแต่เรามองว่าเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ เราเป็นสถาปนิก เราต้องเป็นนักคิด นักแก้ไขปัญหา ถ้าเรามองภาพออก จะทำให้เราสามารถเข้าไปปรับปรุงแก้ไขได้ทุกกระบวนการ
สิ่งสำคัญคือขจัดความความฟุ้ง ด้วยระบบการทำงานที่เราได้รับประสบการณ์จากตอนเรียน ตอนฝึกงาน มาปรับและประยุกต์ใช้ให้ตรงกับสไตล์ของเรา กระบวนการคิด วิธีคิด ประยุกต์ใช้จริงได้ของทุกระบบทั้งงานออกแบบ ธุรกิจ และการใช้ชีวิต ส่วนตัวเลือกเรียนสถาปัตย์ถูกต้องแล้วกับความเป็นตัวของตัวเอง ที่สำคัญตรงกับสไตล์การทำงานของเราที่ “คิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงมือทำด้วย” เชื่อว่าเป้าหมายในชีวิตคงเหมือนหลายๆ คน เน้นตั้งเป้าหมายใหญ่ จะไปถึงแค่ไหนอยู่ที่เราต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ต้องกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงหรือทำไม่ได้ ตอนเรียนเรามีอาจารย์ มีเพื่อนช่วยแนะนำ ประคับประคองไปพร้อมกัน หลังจบจนปัจจุบัน ความรู้ เพื่อน อาจารย์ ยังคงมีเครือข่ายกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเอามาต่อยอดธุรกิจต่างๆ ของเราได้ ซึ่งเป็นข้อดีมากของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต