ในประเทศ

ภาคประชาสังคมสุราษฎร์ ระดมความเห็นสรุป 5 ข้อยื่น สส.พิพิธ และกรรมาธิการ เขียนกฎหมายคุมน้ำเมาเห็นการสุขภาพสังคม เพิ่มโทษจัดหนักคนขาย

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน เครือข่ายงดเหล้าสุราษฎรธานี กลุ่มนักศึกษา คณาจารย์ และภาคีภาคประชาสังคม ได้ร่วมประชุมหารือถึงข้อห่วงใยต่อการแก้ไข พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีนายพิพิธ รัตนรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับข้อเสนอของที่ประชุม

นายพิพิธ กล่าวว่า กรรมาธิการได้พิจารณากฎหมายตัวนี้มากว่า 2 เดือน มีทั้งฝ่ายที่ต้องการเปิดให้ขายและดื่มได้เสรีมากขึ้นด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจ อีกฝ่ายต้องการให้คงมาตรการควบคุมการขาย การดื่ม พร้อมปรับปรุงให้รัดกุม เข้มข้นขึ้น ด้วยมุมมองทางสุขภาพ และความปลอดภัยของสังคม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีมติออกมาในรายมาตรา แต่อีกไม่กี่สัปดาห์จะมีการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งตนจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมวันนี้ไปเสนอ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าสร้างเศรษฐกิจก็จริง แต่ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ของประชาชน เช่นกัน การหาจุดสมดุลเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จุดสำคัญที่ต้องคงไว้และประนีประนอมไม่ได้คือ 1. ต้องมีเจตนารมณ์ปกป้องเด็ก เยาวชนและกลุ่มเปราะบาง 2. ต้องเปิดให้ผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยลืมตาอ้าปากได้ ไม่เปิดช่องให้ธุรกิจรายใหญ่กินรวบ 3.ไม่เพิ่มคนเมาขาดสติบนท้องถนน ครอบครัวและชุมชน และ 4.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น โดยตนจะเสนอกรรมาธิการให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด/ กทม. มีอำนาจมากขึ้น สามารถตัดสินใจกำหนดมาตรการต่างๆ ในระดับพื้นที่ได้ สามารถนำภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากเหล้าเบียร์ในระดับพื้นที่

ด้าน ดร.ชนัญชิดา ทิพย์ญาณ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรถอยหลังโดยมองแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวเพราะจะสร้างความเสียหายมาก เพราะปัจจุบันมีการเปิดเสรีในสิ่งที่กระทบกับสุขภาพและสังคมอุบัติเหตุ ความรุนแรงจะทุกเรื่อง ทั้งจะให้มีกาสิโน หวย เหล้าเสรี กระท่อม กัญชาเสรี โดยแฉพาะเด็ก เยาวชน แต่กลับไม่มีกฎหมาใดออกมาปกป้องคนเหล่านี้เลย เหมือนกำลังจะเปลี่ยนประเทศให้เป็นการท่องเที่ยวแบบขาดสติ เอาสิ่งหนึ่งมาทำลายอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรจะภูมิใจกับกับการเดินหน้าประเทศไปในทิศทางนี้ ในฐานะอาจารย์รู้สึกผิดหวังที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับภาคสังคม การบ่มเพาะเด็กและเยาวชนน้อยเกินไป ดังนั้นควรมีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ และปัญหาสังคมด้วย

ด้าน นายบุญฤทธิ์ ดำเนินผล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการระดมความคิดเห็นมีข้อห่วงใยหลายประการ โดยสรุปเป็นข้อเสนอส่งถึงรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรผ่านประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังนี้ 1. ขอให้กรรมาธิการพิจารณาจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างครอบคลุมรอบด้าน สร้างการมีส่วนร่วมที่สมดุลมากกว่าการเปิดพื้นที่รับฟังจากกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. ขอให้ปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติโดยยึดหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการออกมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา บัดฟื้นฟู ออกแบบงานเทศกาลที่จัดในพื้นที่ชุมชน 3. ขอให้กรรมาธิการพิจารณาไม่ให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เข้ามาเป็นกรรมการทุกระดับ 4. ขยายความรับผิดชอบ และเพิ่มโทษผู้ประกอบการที่ขายให้กับเด็ก เยาวชน คนเมาครองสติไม่ได้ และ 5.พิจารณาให้มีกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีที่มาจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *