รพ.ควนขนุน พัทลุง คว้ารางวัลชนะเลิศนิทรรศการดีเด่น ดูแลผู้ป่วยเบาหวานแนวใหม่ในวิกฤติโควิด
รพ.ควนขนุน พัทลุง คว้ารางวัลชนะเลิศนิทรรศการดีเด่น ดูแลผู้ป่วยเบาหวานแนวใหม่ในวิกฤติโควิด ช่วยลดความแออัด ลดค่าใช้จ่าย สร้างความปลอดภัยผู้รับบริการ
นายเชษฐพงศ์ สัจจาผล นายแพทย์ชำนาญการ ศูนย์แพทย์ชุมชนโรงพยาบาลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กล่าวภายหลังได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานนิทรรศการดีเด่น (Poster Presentation) ที่จัดแสดงในการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22 ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ว่า ศูนย์แพทย์ชุมชนโรงพยาบาลควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้รับรางวัลแสดงผลงานชุด “CMU Model : รูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแนวใหม่ ในวิกฤติโควิด-19” ถือเป็นหนึ่งใน15 ผลงานที่ได้รับรางวัล สร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานอย่างมาก
นายเชษฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับที่มาของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของศูนย์แพทย์ชุมชนโรงพยาบาลควนขนุน เนื่องจากทางศูนย์มีผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับบริการปี2564 สูงถึง 463 คน พบว่า ผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี มีเพียงร้อยละ35.65 เท่านั้น ยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคสูงกว่าคนปกติหากติดเชื้อ ซึ่งระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบเดิม คือ ต้องเข้ามารับบริการตรวจรักษาต่อเนื่องทุก1-2 เดือน แต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการครั้งละ 70-80 คน และมีระยะเวลารอคอยในการเข้ารับบริการเฉลี่ยคนละ 90 นาที ส่งผลให้เกิดความแออัดในคลินิก และการดูแลรูปแบบเดิมไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยคุมระดับน้ำตาลได้ดี
นายเชษฐพงศ์ กล่าวว่า รูปแบบดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบเดิมๆ อาจไม่ใช่คำตอบในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นที่มาของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแนวใหม่ โดยใช้ CMU model มีคลินิกเบาหวานของศูนย์แพทย์ชุมชนโรงพยาบาลควนขนุน เป็นฐานในการขับเคลื่อน สำหรับ CMU model คือ C : Community engagement การปรับระบบนัดใหม่ ปรับระบบเครือญาติในการขับเคลื่อนงานเบาหวาน จัดระบบนัดหมายเป็นรายหมู่บ้านและเครือญาติ เช่น สัปดาห์ที่ 1 นัดตรวจคนไข้ในหมู่ 1,2 เป็นต้น M : Make a decision ตกลงร่วมกับผู้ป่วยในการตั้งเป้าหมายคุมเบาหวานด้วยตัวผู้ป่วยเอง ได้นำกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจ U : Understand the whole person ทำความเข้าใจชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงชุมชน ลงเยี่ยมบ้าน ค้นหารูปแบบ Intervention เสริมพลังที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย มีการประชุมครอบครัว เพื่อให้คนในครอบครัว รวมถึงชุมชนเข้าใจ ตระหนัก มีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยที่บ้านให้มากขึ้น
“การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแนวใหม่นี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมนำไปใช้ง่ายและได้ผล จัดบริการแบบเหลื่อมเวลา นัดผู้ป่วยไม่เกิน 30 คน จัดสถานที่แบบรักษาระยะห่าง รอตรวจครั้งละ 12-15 คน ใช้เวลาไม่เกิน 1ชั่วโมง ทำให้การขาดนัดลดลง ทั้งนี้จากการประเมินผลตั้งแต่เดือน มกราคม 2563–31 ธันวาคม 2564 สามารถช่วยเพิ่มอัตราการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานได้มากขึ้น ถึงร้อยละ 44.06 และลดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยระยะยาว ซึ่งขั้นตอนต่อไป คือการนำ CMU model นี้ไปขยายในทุก รพสต. ของอำเภอควนขนุน ต่อไป” นายเชษฐพงศ์ กล่าว